“ความคาดหวัง” อาวุธร้ายทำลายลูก

 

“งานเลี้ยงลูกของบิดามารดาเปรียบเสมือนงานปั้นพระของศิลปิน ต้องทุ่มเททั้งชีวิต ผลสัมฤทธิ์จึงจะออกมาดั่งที่ปรารถนา หมายความว่า เป็นงานที่ต้องเลี้ยงกันด้วยความละเมียดละไม ใส่ใจทุกรายละเอียด ซึ่งศิลปินที่จะประสบความสำเร็จในการปั้นพระ เขาก็ต้องเรียนรู้ก่อน จากนั้นต้องมีจิตใจที่งดงามล้ำเลิศ พระที่ปั้นจึงจะงดงามจริงๆ ที่สำคัญ ต้องให้เวลากับงานปั้นจริง ๆ” นี่คือคำกล่าวของ ท่าน ว.วชิรเมธี

สิ่งที่ท่าน ว.วชิระเมธี  ได้กล่าวไว้นั้นเป็นความจริงแท้  ด้วยพ่อแม่นั้นเมื่อให้กำเนิดบุตรแล้วต่างก็ตั้งความหวังไว้ให้เป็นที่พึ่งพายามแก่ชรา  วาดหวังว่าลูกนั้นจะเป็นคนดีเป็นคนเก่งและเป็นคนที่มีความสุขในชีวิต  โดยพยายามวางแผนและขีดเส้นให้ลูกนั้นเดินไปตามอย่างที่ตนคาดหวัง  กำหนดทุกอย่างในชีวิตลูกให้เป็นไปตามความตั้งใจของตน  จนบางครั้งความรักและความหวังดีทุกอย่างที่พ่อแม่พยายามทำกลับกลายเป็นดาบที่ฟาดฟันลูกตัวเองอย่างไม่รู้ตัว  เพราะอย่าลืมว่าลูกของเราไม่ใช่อิฐ หิน ปูน ทราย  ที่อยากจะปั้นเสริมเติมแต่งตรงไหนหรืออย่างไรก็ได้  แต่ลูกเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความคิดความรู้สึกเป็นของตัวเอง  รู้สึกได้  คิดเองได้  และมีสิทธิ์เลือกทางเดินในชีวิตของตนเอง

ผลงานวิจัยของ Gail Heyman ตีพิมพ์ในวารสาร  Psychology Today ได้กล่าวไว้ว่าความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกกดดันและเกิดความเครียด และเป็นสาเหตุให้ลูกโกงข้อสอบ     และยังมีงานวิจัยในประเทศจีนนักวิจัยสำรวจเด็ก 300 คนอายุระหว่าง 3-5 ขวบ แบ่งเด็กออกเป็นสามกลุ่มโดยใช้วิธีแบบสุ่ม กลุ่มแรกคุณครูบอกกับเด็กว่า ‘นักเรียนเป็นเด็กฉลาด’ กลุ่มสองคุณครูบอกกับเด็กว่า ‘นักเรียนเป็นเด็กเก่ง’ และกลุ่มที่สามคุณครูไม่ได้กล่าวชื่นชม  ผลงานวิจัยพบว่าความคาดหวังที่คุณครูบอกกับนักเรียน เป็นแรงกระตุ้นให้เด็กๆ ทำความผิดและโกงเพราะไม่อยากให้คุณครูผิดหวัง   ทั้งสองงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ นั้นยอมให้พ่อแม่หรือคุณครูนั้นโกรธได้แต่ไม่ยอมให้ผิดหวังในตัวเอง  ยอมเป็นคนที่โกงข้อสอบมากกว่าเป็นคนที่สอบตก  สะท้อนว่าเด็ก ๆ นั้นเกิดความกดดันที่ต้องแบกความคาดหวังของทุกคนไว้

ทั้งหมดจะด้วยความรักก็ดีความหวังดีก็ดี  สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความกดดันที่เด็กตัวเล็ก ๆ ต้องแบกมันเอาไว้  ส่งผลให้เด็กหลายคนมีความสุขในวัยเด็กลดลงและเด็กอีกหลายคนยอมทำความผิดเพียงเพื่อต้องการนำความสำเร็จมาสู่คนที่คาดหวังกับตัวเขา   ความหวังที่อยากเห็นลูกมีอนาคตที่ดี  พ่อแม่ทุกคนต่างก็คาดหวังในตัวลูกทุกคน  แต่ก็ควรอยู่บนความพอดีที่ไม่เป็นการทำร้ายลูกทางอ้อม  การเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ๆ ที่เหนือกว่าในบางด้านนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ  เหมือนกับที่เราไม่อาจสอนปลาให้บินได้ฉันใด  เราก็ไม่อาจใช้ความสามารถของเด็กคนหนึ่งมาตัดสินเด็กอีกคนได้ฉันนั้น  ทุกคนบนโลกนี้เกิดมาต่างก็มีความพิเศษแตกต่างกันไป  พ่อแม่เองต้องเป็นคนแรก ๆ ที่มองเห็นความพิเศษนั้น  อย่าคิดว่าลูกของเราต้องเก่งหรือเหนือกว่าคนนั้นคนนี้  ลองย้อนกลับมามองลูกเราว่าถนัดอะไร  แล้วส่งเสริมด้านนั้นอาจจะทำให้ลูกมีความสุขมากกว่า  เมื่อมีความสุขแล้วก็ย่อมชอบที่จะทำมันซ้ำ ๆ และนั่นคือสิ่งที่เป็นความอัจฉริยะของลูกซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร   พ่อแม่ลองสังเกตดูว่าเมื่อเราไม่บังคับลูก  รับฟังทุกปัญหาและพร้อมอยู่เคียงข้างโดยไม่ก้าวก่ายในการตัดสินใจของเขา  เด็ก ๆ ก็มักจะเปิดใจเล่าเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา  และนั่นจะทำให้เราได้เห็นว่าลูกของเราเป็นคนเช่นไร  มีวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้หรือไม่  หากลองแล้วแก้ไม่ได้เราก็อาจช่วยแนะนำให้เขาลองใช้วิธีของเรา  แต่ไม่ได้บังคับว่าต้องทำตามเรา  ให้ตัวเด็กมีสิทธิ์เลือกว่าจะเลือกทำอย่างไรกับปัญหานั้น

การสอนให้ลูกรู้จักจัดการปัญหาด้วยตัวเอง  แม้บทสรุปแล้วลูกจะแก้ได้หรือไม่ได้จะผิดหวังหรือสมหวังนั่นคือการเรียนรู้ก่อนเข้าสู่ชีวิตจริง   การถูกฝึกให้คิด  ฝึกให้แก้ไขปัญหาเองตั้งแต่เด็ก  เป็นการสร้างประสบการณ์จริงให้กับเด็กเพราะในชีวิตจริงไม่มีใครสมหวังไปทุกอย่าง  ดีไปทุกเรื่อง  ความสุขและความทุกข์ล้วนเป็นสิ่งที่มาคู่กันเสมอ  หากลูกไม่รู้จักความทุกข์เกิดมาก็สุขสมหวังไปเสียทุกเรื่อง  เพราะพ่อแม่จัดการไว้ให้ทุกอย่าง  เพราะพ่อแม่นั้นวางแผนไปเสียทุกเรื่อง   เมื่อวันหนึ่งที่ลูกโตเป็นผู้ใหญ่แล้วรับมือกับความทุกข์ที่เข้ามาในชีวิตไม่ได้  ตอนนั้นความรุนแรงของปัญหาที่เกิดย่อมรุนแรงมากนัก  หากรอจนถึงวันนั้นบางทีพ่อแม่อาจจะต้องเสียใจที่เลี้ยงลูกมาแบบนั้น

ดังนั้นปัญหาสังคมส่วนใหญ่จึงมักมีจุดเริ่มต้นที่สถาบันครอบครัว  เมื่อใดก็ตามที่สถาบันพื้นฐานนี้มีปัญหา  ก็จะพบว่าสังคมก็มักมีปัญหาเช่นกัน   พ่อแม่ผู้ปกครองจึงเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมเด็กคนหนึ่งขึ้นมา  อย่าให้ความคาดหวังของเราทำร้ายอีกคนที่เรารักและมีแต่ความปรารถนาดีให้เขา  จงใช้ความรักที่มีเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในหัวใจเขา  ให้เขาได้มั่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามครอบครัวยังคงยืนอยู่ข้างเขาเสมอ